ระเบียงหลัง


ระเบียงหลัง


สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงโปรดให้ใช้ระเบียงหลัง เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ แบบไทย ดังนี้
- ทรงใช้เป็นที่เสวยพระกระยาหารกับพระโอรสและพระธิดา
- ทรงใช้เป็นที่รับสั่งสนทนา หรือประทานเล่าเรื่องเก่าต่าง ๆ ให้ผู้มาเข้าเฝ้าส่วนพระองค์ฟัง


สิ่งของสำคัญมี ดังนี้
1. แผ่นป้ายธรรมะ
แผ่นป้ายธรรมะในกรอบกระจก ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระอุปัชฌาย์ของหม่อมเจ้าจุลดิศ ดิศกุล) เหมาะสำหรับนวกภิกขุ (พระบวชใหม่) และชาวบ้านทั่วไป ได้ศึกษาเล่าเรียนคู่ไปกับการศึกษาวิชาการพื้นฐานต่างๆ ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ขยายการศึกษาวิชาการดังกล่าวไปสู่ภูมิภาค การแสดงแผ่นป้ายธรรมะไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้ผู้พบเห็นได้สำรวจตนเองว่า ขาดธรรมะใดไปบ้าง ควรได้ปฏิบัติเสียให้พร้อม ตั้งอยู่ในความดีด้วย กาย วาจา และใจ เป็นนิจ
2. ภาพต่างๆ
2.1 ท่านเจ้าจอมมารดา ชุ่ม เมื่ออายุ 60 ปี
2.2 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพแต่งพระองค์ตามแบบประพาสต้น (รูปนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรดมาก เพราะสมเด็จฯ ทรงระลึกถึงความหลังแห่งความภาคภูมิพระทัยที่ประเทศไทยมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีน้ำพระทัยอันประเสริฐ รักปวงประชาราษฎร์ของพระองค์เป็นที่สุด ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสต้นเยี่ยมราษฎรตามชนบทอย่างไม่เป็นทางการ)
2.3 หม่อมเฉื่อยกับพระโอรส และพระธิดา ขณะยังเยาว์บางพระองค์
2.4 หม่อมเจ้าจุลดิศ ดิศกุล (ถ่ายเมื่อพระชนม์ 7 ปี แต่งพระองค์เข้าขบวนแห่พระโสกันต์ของ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ซึ่งทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรกในรัชกาลที่ 5)
2.5 ภาพทหารแสดงตระกูล ดิศกุล เป็นทหารบก 3 ช่วงคน อันได้แก่
1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
2. หม่อมเจ้าจุลดิศ ดิศกุล (ทหารม้า)
3. พลตรี หม่อมราชวงศ์ สังขดิศ ดิศกุล ขณะศึกษาเล่าเรียนนายร้อยที่แซนด์เฮิรส
3. ตู้ลายไทย
ตู้ลายไทยบรรจุเครื่องใช้เล็ก ๆ น้อย ๆ ของท่านเจ้าจอมมารดาชุ่ม มีสิ่งหนึ่งซึ่งประทับใจ คือ ซองบุหรี่ที่มีภาพของเจ้าจอมมารดาชุ่มอยู่หน้าซอง เป็นซองบุหรี่ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานหม่อมเจ้าจุลดิศ ดิศกุล โดยทรงจารึกข้อความไว้ว่า "พ่อให้ทิด จุลดิศ ศรัทธา วิริยะ อุตสาหะ เมื่ออุปสมบท ในพ.ศ.2455" หม่อมเจ้าจุลดิศ ดิศกุล ขณะทรงผนวชสามารถสอบผ่านนักธรรมเอกได้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพอพระทัยมาก
4. โต๊ะกลม
โต๊ะกลมนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงใช้เป็นที่เสวยส่วนพระองค์กับครอบครัว ในเวลาที่ไม่มีบุคคลภายนอกมาร่วมเสวย หรือรับประทานด้วย
5. ลายพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อ พ.ศ. 2370 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเขียนข้อความที่เป็นคติเตือนพระองค์เองว่า "ไม่เข้าไม่ออกใครเลย รักษาแต่ตัวเป็นข้าแผ่นดิน"


204 Varadis Palace Larn Luang Mahanak, Pomprap-satrupai, Bangkok 10100, THAILAND

Back to Varadis Palace