ห้อง Study

ห้อง Study


สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียกห้องรับแขกว่า "ห้อง Study" ด้วยทัศนคติที่ว่า มนุษย์เราควรศึกษาเล่าเรียนอย่างไม่รู้จบ เมื่อมีแขกมาเยือน เราต้องศึกษารู้จักเขา เหมือนเราศึกษาสิ่งอื่นๆเช่นกัน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประสงค์ที่จะพบผู้มาเยือน เพื่อการศึกษาตามสภาพสังคม ดังนั้นสิ่งที่แสดงไว้ในห้องนี้ จึงเป็นเรื่องของวิชาทางศาสนา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และเรื่องส่วนพระองค์
ห้องนี้จัดเป็นแบบวัฒนธรรมผสม (Mixed Culture) คือ ศึกษาวัฒนธรรมทั้งที่เป็นของเขาและของเรา ที่สามรถนำมาเป็นคติศึกษาได้ทั้งสิ้น เช่นสิ่งสำคัญต่อไปนี้


1. พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
เดิมที่เชื่อกันว่า ลัทธิมหายานเข้ามาสู่ประเทศไทยทางใต้นั้น เนื่องจากได้พบพระรูปโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรลัทธิมหายานที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พระพุทธรูปองค์นี้เป็นองค์จำลอง ต่อมาได้พบพระพุทธรูป และรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ทั่วไปทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน แสดงถึงความจริง 2 ประการ คือ พระพุทธศาสนาลัทธิมหายานไม่ได้เข้ามาสู่ไทยเพียงทางใต้เท่านั้น พระพุทธศาสนาลัทธิหินยาน (เถรวาท) และพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานได้เข้ามาสู่ประเทศไทย แพร่หลายมากเท่าๆกัน แต่คนไทยสมัครใจรับลัทธิหินยานมากกว่าลัทธิมหายาน
สำหรับโบราณวัตถุอื่น ๆ 555 ชิ้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ประทานแก่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เนื่องจากไม่โปรดการเก็บโบราณวัตถุ ไว้เป็นสมบัติส่วนพระองค์


2. รูปสลักหินอ่อนเปียตา (Pieta) ภาษาอิตาลี
เป็นรูปสลักหินอ่อนจำลอง ย่อสัดส่วนจากรูปสลักหินอ่อนจริง ซึ่งเป็นงานของไมเคิล แอง เจลโล และประดิษฐานอยู่ในวิหาร ST.Peter ที่กรุงโรม กรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ (พระโอรสในรัชกาลที่4) ประทานแด่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยทรงแสดงความหมายว่า รูปสลักหินอ่อนเปียตา แสดงถึงความรักของพระมารดา ที่มีต่อพระโอรส (Jesus Christ) เมื่อองค์ Jesus Christ หาชีวิตไม่ พระมารดาก็เศร้าโศกที่สุด ดังปรากฏให้เห็นชัดเจนจากรูปสลักนั้น รูปสลักหินอ่อน ณ ตำหนักนี้ แสดงความหมายถึง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นโอรสที่รักยิ่งองค์เดียวของท่านเจ้าจอมมารดาชุ่ม และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ทรงเป็นพระโอรสที่มีความกตัญญูรู้คุณมารดาอย่างที่สุด


3. เครื่องหมายทศพิธราชธรรม
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแสดงความหมายของการเก็บรักษาเครื่องหมายทศพิธราชธรรม ไว้ที่ตำหนักว่า ทศพิธราชธรรมนั้น ไม่ใช่เป็นธรรมของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ประชาชนทั่วไปก็ปฏิบัติธรรมข้อนี้ได้ ถ้าทุกคนปฏิบัติธรรมนี้เช่นกัน ประเทศก็จะรุ่งเรือง เพราะเป็นธรรมที่ปกครองบ้านเมืองและบ้านเรือน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสรุปผลการปฏิบัติทศพิธราชธรรมไว้สำหรับคนทั่วไป ไว้ให้เห็นง่าย ๆ ว่า ปฏิบัติแล้วควรเกิดคุณสมบัติแก่ผู้ปฏิบัติ 3 ประการ กล่าวคือ มีความรอบรู้ทางโลก มีความรอบรู้ทางธรรม และมีปัญญาเลือกปฏิบัติแต่ในทางดีละเว้นชั่ว ทำให้ตนเองเป็นที่ยกย่องนับถือ ไม่เป็นที่รังเกียจของผู้อื่น


4. ธรรมาสน์พระสงฆ์
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดให้มีธรรมาสน์พระสงฆ์ไว้ในห้องรับแขก เพื่อแสดงให้เห็นว่า คนไทยควรใกล้ชิดพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง และจัดธรรมาสน์ไว้ให้พระสงฆ์แสดงธรรม พระพุทธศาสนามิได้บังคับว่า บุคคลต้องไปฟังธรรมที่วัดเท่านั้น อาจนิมนต์พระสงฆ์มาที่บ้านก็ได้ ไม่ควรห่างเหินจากพระสงฆ์ไปเสียเลย ข้างธรรมาสน์พระ มีคำสอนการไหว้ 5 ครั้งของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์วัดเทพศิรินทราวาส กล่าวคือ ในวันหนึ่ง ๆ คนเราควรมีเวลารำลึกถึงพระคุณอันประเสริฐ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของพระธรรม ของพระสงฆ์ ของบิดามารดา และของครูอาจารย์ ตลอดจนผู้ที่มีพระคุณทั้งหลาย การไหว้ตามคำสั่งสอนของสมเด็จฯ พระพุทธโฆษาจารย์ จึงเป็นการสอนให้ไหว้ 5 ครั้ง เพื่อระลึกถึงผู้มีพระคุณดังกล่าวข้างต้น ตามลำดับ มีผู้ที่เคยได้ปฏิบัติการไหว้ 5 ครั้งมาแล้ว กล่าวว่า หลังจากการปฏิบัติเป็นเนื่องนิตย์ ก็ได้รับผลดีตอบแทนอย่างเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก


5. หมวกเหล็กสงคราม
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแสดงหมวกเหล็กสงครามไว้ในห้องรับแขกด้วยมีพระประสงค์ให้ผู้มาเยือนทราบว่า ตระกูลดิศกุล เป็นตระกูลที่ได้ผ่านสงครามเพื่อประเทศชาติมาแล้วหลายครั้ง คือ สงครามปราบกบฏฮ่อ สงครามอินโดจีน และสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่2) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการ กรมยุทธนาธิการฝ่ายทหารบกเมื่อพวกฮ่อขบถ หรือปัจจุบันเรียกตำแหน่งนี้ว่า ผู้บัญชาการทหารบก


204 Varadis Palace Larn Luang Mahanak, Pomprap-satrupai, Bangkok 10100, THAILAND

Back to Varadis Palace