หอสมุดดำรงราชานุภาพ เป็นห้องสมุดอนุสรณ์ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยและโบราณคดี พระองค์ได้รับการยกย่องจากองค์การ UNESCO ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก
ประวัติหอสมุดดำรงราชานุภาพ
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งยังมีพระชนม์ชีพอยู่ได้ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพไปประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เยอรมันนี เป็นต้น ทรงพบรูปปั้นบุคคลสำคัญของชาตินั้นๆ สิ่งของและผลงานที่บุคคลสำคัญมอบให้แก่ชาติ จัดแสดงให้ผู้คนได้เข้าชม ทำให้ทรงคิดว่า บุคคลเหล่านั้นยังคงมีชีวิตอยู่ จึงทรงคิดอยากที่จะเป็นบุคคลที่ไม่ตายบ้าง ต่อมาเกิดเหตุการณ์ผันผวนทางการเมือง ทำให้สมเด็จกรมฯ พระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้รับความกระทบกระเทือนทางพระทัยเป็นอย่างมาก จึงเสด็จไปประทับ ณ เมืองปีนังระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๕ - ๒๔๘๕ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล จึงตัดสินพระทัยที่จะทำให้โลกได้รู้จักพระบิดาในส่วนที่เป็นจริงให้ได้ ทรงเริ่มคิดถึง “ห้องดำรง” แต่นั้นมาว่าจะทรงจัดในรูปใดและที่ไหน
ใน พ.ศ. ๒๔๘๐ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงทำพินัยกรรม โดยทรงตั้งหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล เป็นกรรมการองค์หนึ่ง หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล จึงทูลขอหนังสือซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสะสมไว้สำหรับเป็นมรดกของพระองค์ที่จะทรงได้รับ เพื่อจะนำไปทำ “ห้องดำรง” โดยทรงให้เหตุผลว่า พระองค์ท่านคงจะเสียใจมาก ถ้าพบลายพระหัตถ์สมเด็จฯ กรมพรยาดำรงราชานุภาพอยู่ตามเวิ้งนครเขษมเล่มละ ๒๕ สตางค์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงรับตามที่หม่อมเจ้า พูนพิศมัย ดิศกุล ทูลขอ เมื่อถึง พ.ศ. ๒๔๘๕ ภายหลังเสด็จกลับจากปีนังแล้ว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ทรงเริ่มจัดห้องสมุดของพระองค์ท่านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย จัดแยกหนังสือเป็นหมวดๆ เพื่อเตรียมประทานแก่หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล วันหนึ่งเสด็จเยี่ยมหอพระสมุดและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พร้อมด้วยหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทอดพระเนตรเห็นหลักก่อฤกษ์ที่หอสมุด เมื่อกลับถึงวังแล้ว ทรงตรัสกับหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ว่า เหมาะสำหรับเป็น “ห้องดำรง” ได้ห้องหนึ่ง
ครั้นถึงวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๘๖ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพสิ้นพระชนม์ ซึ่งอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ มิสเตอร์มัซซุโมโต เจ้าหน้าที่สถานทูตญี่ปุ่น ได้ติดต่อขอซื้อหนังสือทั้งหมดของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพในนามของรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อนำกลับไปทำหนังสือเรียนให้คนไทยเรียนในราคา ๕ ล้านบาท แต่ทรงไม่ขาย ทรงกล่าวว่า พระองค์จะประทานให้แก่ชาติไทย ถ้าคนญี่ปุ่นต้องการศึกษา ก็ให้มาศึกษาได้ที่เมืองไทย เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล จึงทรงยินดียกบรรดาหนังสืออันมีค่าเหล่านี้ให้เป็นสมบัติของชาติ สำหรับใช้เป็นอุปกรณ์การสอนด้านวิชาการของนักศึกษาผู้ใฝ่ในความรู้ต่างๆ มีประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและโบราณคดี เป็นต้น เมื่อรัฐบาลทราบความประสงค์อันเป็นกุศลเจตนานี้ก็มีความยินดี เพราะการมอบสิ่งอันมีค่าจำนวนมากให้เป็นวิทยาสมบัติของชาติหรือส่วนรวมอย่างนี้ ถ้าว่าในต่างประเทศหรือบางประเทศก็ไม่เป็นของแปลกอะไร ด้วยมีผู้ศรัทธาบำเพ็ญกุศลทานชนิดนี้อยู่บ่อยๆ แต่ถ้าว่าถึงประเทศไทยการบำเพ็ญกุศลสาธารณประโยชน์ เพื่อการศึกษาเช่นนั้น นานๆ จึงจะมีสักครั้งหนึ่ง รัฐบาลจึงอนุมัติเงินจำนวนหนึ่งให้ใช้จ่ายเป็นค่าก่อสร้างสถานที่สำหรับเก็บรักษาหนังสือ ตรงที่ว่าระหว่างหอพระสมุดวชิราวุธ (ตึกถาวรวัตถุ) กับวัดมหาธาตุยุวราษฎร์รังสฤษดิ์ เป็นอาคารทรงไทยชั้นเดียว เนื้อที่ประมาณ ๑๖๘ ตารางวา ขนานชื่อว่า “หอสมุดดำรงราชานุภาพ” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน ออกแบบก่อสร้างโดย หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร หัวหน้ากองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร บริษัทดองชองก่อสร้าง เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง สิ้นเงินค่าใช้จ่ายในการนี้รวม ๒๐๐,๐๐๐ บาท (สองแสนบาท) ใช้เวลาก่อสร้างนาน ๕ เดือน และมอบให้อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร
อาคารเดิมหอสมุดดำรงราชานุภาพ สร้างครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๙๐ จำนวนหนังสือต่างๆ ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่มีอยู่ในหอสมุดนี้รวมทั้งสิ้นประมาณ ๗,๐๐๐ เล่ม แยกเป็นหนังสือภาษาไทย ๓,๘๗๐ เล่ม หนังสือภาษาต่างประเทศ ๓,๐๖๑ เล่ม เอกสารตัวเขียน ๒ ตู้ สมุดภาพ ๑๕๖ เล่ม นอกจากนี้พระโอรสพระธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ๕ องค์ คือ หม่อมเจ้าจุลดิศ หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม หม่อมเจ้าพูนพิศมัย หม่อมเจ้าพิไลยเลขา และหม่อมเจ้าดิศศานุวัติ ซึ่งเป็นกรรมการจัดการเรื่องพระพินัยกรรม พร้อมพระทัยกันยกสิ่งของต่างๆ ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อันเป็นส่วนหนึ่งของพระมรดกที่ได้ทรงรับไว ้อุทิศถวายให้เป็นสมบัติของหอสมุดดำรงราชานุภาพ
หอสมุดดำรงราชานุภาพ ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ อันเป็นวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นองค์ประธานในพิธีเปิด หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล พิมพ์หนังสือแจกแก่บรรดาผู้ร่วมงาน ๓ เล่ม คือ ความทรงจำ,ห้องดำรง และ Dedication to Prince Damrong of Siam
ปัจจุบัน หอสมุดดำรงราชานุภาพเป็นสาขาหนึ่งของหอสมุดแห่งชาติที่อยู่ในส่วนกลาง มีคณะกรรมการชุดหนึ่งซึ่งกรมศิลปากรแต่งตั้งขึ้น เพื่อให้มีส่วนร่วมในการดูแลรับผิดชอบการดำเนินงานของหอสมุดดำรงราชานุภาพคือ “คณะกรรมการพิทักษ์รักษาหอสมุดดำรงราชานุภาพ” ประกอบด้วยบุคคลในราชสกุลดิศกุล ไม่น้อยกว่า ๒ คน และข้าราชการกรมศิลปากรไม่น้อยกว่า ๓ คน ส่วนประธานกรรมการให้แต่งตั้งจากบุคคลในราชสกุลดิศกุล
ครั้นถึง พ.ศ. ๒๕๒๙ หอสมุดแห่งชาติ มีนโยบายจะปรับปรุงการให้บริการโดยจะขยายอาคารออกไปให้กว้างขวาง สำหรับเก็บหนังสือใหม่ๆ เพิ่มขึ้น จึงได้เสนอโครงการต่อที่ประชุมคณะกรรมการพิทักษ์รักษาหอสมุดดำรงราชานุภาพ ประกอบกับขณะนั้นวัดมหาธาตุยุวราษฏร์รังสฤษดิ์ต้องการตึกถาวรวัตถุ พร้อมที่ดินบริเวณรอบๆ อาคาร ซึ่งวัดฯ เข้าใจว่าเป็นสมบัติของวัดคืน คณะกรรมการฯ จึงมีความเห็นว่าการจะต่อเติมอาคารหอสมุดดำรงราชานุภาพออกไปนั้น อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ในภายหลัง สมควรจะก่อสร้างอาคารหลังใหม่ในบริเวณอื่น หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงทราบเรื่อง จึงทรงแก้ไขพินัยกรรมที่ทำไว้แล้วอีกครั้งหนึ่ง และเสนอให้ก่อสร้างอาคารใหม่ในบริเวณวังวรดิศในส่วนของพระองค์ท่าน หอสมุดดำรงราชานุภาพเป็นอาคาร ๓ ชั้น ทรงยุโรป สร้างบนเนื้อที่ ๓๕๕.๘๒๕ ตารางวา ตั้งอยู่เลขที่ ๑๘๒ บริเวณวังวรดิศ ถนนหลานหลวง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ ๘๐๐ ตารางเมตร ออกแบบก่อสร้างโดยนายสมชาติ
จึงสิริอารักษ์ สถาปนิกกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ห้างหุ้นส่วนจำกัดชวะสถาปัตย์
เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ รวมเงินค่าก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยมีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์ในการก่อสร้าง คือ
๑. หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท
๒. ทายาทหม่อมเจ้าจุลดิศ ดิศกุล และหม่อมแช่ม ดิศกุล ณ อยุธยา ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
๓. มูลนิธิเจ้าพระยามุขมนตรี (อวบ เปาโรหิตย์) ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
๔. พระญาติ ญาติ และมิตรของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีมอบ และเปิดอาคารใหม่ เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๓๒ โดยหม่อมเจ้าพิริยดิศ ดิศกุล ทรงกล่าวรายงานถวาย ในโอกาสเดียวกันหม่อมราชวงศ์สังขดิศ ดิศกุล ได้พิมพ์หนังสือและของที่ระลึกแจกแก่บรรดาผู้ร่วมงานด้วย ๓ สิ่งคือ พระรูปหล่อครึ่งพระองค์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขนาด ๕ นิ้วครึ่ง, กรอบพระรูปสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหนังสือเรื่องหอสมุดดำรงราชานุภาพ
ในการย้ายอาคารใหม่ครั้งนี้ ทำให้สิ่งของส่วนพระองค์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เคยกระจัดกระจายกลับมารวมอยู่ที่เดียวกัน ในบริเวณวังวรดิศอีกครั้งหนึ่ง





หน้าหลัก พระประวัติ พระปรีชาสามารถและพระอัจริยภาพ พิพิธภัณฑ์วังวรดิศ คติธรรม หอสมุดดำรงราชานุภาพ gallery English โคลงและฉันท์ บทความทางวิชาการ ประวัติประธานพิพิธภัณฑ์ เครื่องหอมไทย พระบิดามัคคุเทศก์ไทย