พระประวัติสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ






สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และเจ้าจอมมารดาชุ่ม ธิดาพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ) ต้นสกุล
"โรจนดิศ" เป็นเจ้าจอมมารดา ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ วันเสาร์ที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๕


พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถพระราชทานพระนาม และพระพรประกอบด้วยคาถาเป็นภาษาบาลี
ซึ่งมีคำแปล ดังต่อไปน
ี้

...สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎพระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยามผู้บิดาขอตั้งนาม กุมารบุตรที่เกิดแต่ชุ่มเล็ก
เป็นมารดานั้น และซึ่งคลอดในวันเสาร์ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๗ ปีจอจัตวาศกนั้น ว่าดังนี้ พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร นาคนาม ขอจงเจริญ ชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลทุกประการ
สิ้นกาลนาน ต่อไป เทอญ...

พระองค์ทรงเริ่มเรียนหนังสือไทยชั้นต้นจากสำนักคุณแสงและคุณปาน ราชนิกุล ในพระบรมมหาราชวัง ทรงศึกษาภาษาบาลี ในสำนักพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) และหลวงธรรมานุวัติจำนง (จุ้ย) ทรงศึกษาภาษาอังกฤษในโรงเรียนหลวง ซึ่งมีมิสเตอร์ ฟรานซิส ยอร์ช แพตเตอร์สันเป็นพระอาจารย์ และทรงศึกษาวิชาหลักรัฐประศาสนศาสตร์จากพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5


พ.ศ.๒๔๗๒ ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เป็น "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ"
ในรัชกาลที่ ๗ ซึ่งเป็นอิสริยยศสูงสุดสำหรับพระองค์ท่านตราบจนสิ้นพระชนม์

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นองค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย องค์ปฐม
ผู้บัญชาการทหารบก อธิบดีกรมศึกษาธิการ(ตำแหน่งเทียบเท่าเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ)
อภิรัฐมนตรี นายกราชบัณฑิตยสภา และทรงบุกเบิกงานด้านโบราณคดีไทยศึกษา โดยทรงนิพนธ์หนังสือที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีไว้เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งได้รับการยกย่องว่าเป็นองค์พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทรงเป็นองค์ผู้อำนวยการก่อตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือน โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย(รร.หลวงแห่งแรก) โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ(รร.เอกชนแห่งแรก) โรงเรียนนายร้อยทหารบก โรงเรียนนายร้อยตำรวจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลศิริราช

วันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ องค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติประกาศ เฉลิมฉลองวันประสูติ ครบ ๑๐๐ ชันษา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ ให้ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการถวายสดุดีเป็น "บุคคลสำคัญของโลก" โดยมีการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพร้อมกันในสมาชิกประเทศของยูเนสโกทั่วโลกเป็นเวลา 14 วัน

วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๔ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้ วันที่ ๑ ธันวาคมของทุกปีเป็น "วันดำรงราชานุภาพ" เพื่อน้อมนำให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพผู้ทรงมีคุณูปการต่อแผ่นดินไทยเป็นอเนกอนันต์สืบไป


พุทธศักราช ๒๔๑๘


เมื่อมีพระชนม์ได้ ๑๓ พรรษา ได้ทรงผนวช เป็น สามเณรที่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ และประทับจำพรรษา
ที่วัดบวรนิเวศวิหาร

พุทธศักราช ๒๔๒๐

ได้ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้รับพระราชทานยศเป็น
นายร้อยตรีทหารมหาดเล็ก บังคับกองแตรวง พระชนมายุได้ ๑๕ ปี

พุทธศักราช ๒๔๒๒
ได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยโทผู้บังคับการทหารม้าในกรมมหาดเล็กและในปีเดียวกันนี้
ได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยเอก ราชองครักษ์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระชนมายุ ได้ ๑๗ ปี
พุทธศักราช ๒๔๒๓
ได้รับพระราชทานยศเลื่อนเป็นนายพันตรี ผู้สนองพระบรมราชโองการ ว่าการกรมทหารมหาดเล็ก
พุทธศักราช ๒๔๒๔
โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปสังกัดกรมทหารปืนใหญ่ ซึ่งเรียกกันในสมัยนั้นว่า “กรมกองแก้วจินดา"
พุทธศักราช ๒๔๒๕
ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา
ปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นพระอุปัชญาย์ และ ประทับจำพรรษาที่วัดนิเวศธรรมประวัติ
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พุทธศักราช ๒๔๒๘
โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นผู้บังคับการทหารมหาดเล็ก และได้รับพระราชทานยศเป็นนายพันโท
พุทธศักราช ๒๔๒๙
โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระสุพรรณบัฎ และทรงประกาศแต่งตั้งให้ ดำรงพระอิสริยยศเป็น
“กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ”
พุทธศักราช ๒๔๓๐
โปรดเกล้าฯ ให้เป็น "ผู้บัญชาการทหารบก"
พุทธศักราช ๒๔๓๑
ได้รับพระราชทานยศเป็นนายพลตรี
พุทธศักราช ๒๔๓๒
โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากงานฝ่ายทหารไปปฏิบัติงานทางพลเรือน ทรงเป็นผู้กำกับกรมธรรมการ
พุทธศักราช ๒๔๓๓
โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการ
วันที่ ๑ เดือน ๑ พ.ศ ๒๔๓๕

ถึง
วันที่ ๑๒ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๘

โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง "เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย"
พุทธศักราช ๒๔๔๒
โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น “กรมหลวงดำรงราชานุภาพ”
พุทธศักราช ๒๔๕๔
โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น “กรมพระดำรงราชานุภาพ”
พุทธศักราช ๒๔๕๘
ดำรงตำแหน่งนายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร

พุทธศักราช ๒๔๖๖

ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร และเป็นนายพลเอกเหล่าทหารบก

พุทธศักราช ๒๔๖๘

ดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรี

พุทธศักราช ๒๔๖๙

ดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภา

พุทธศักราช ๒๔๗๒

โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศ เป็น “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ”

พุทธศักราช ๒๔๘๖

สิ้นพระชนม์ ณ วังวรดิศ สิริรวมพระชันษาได้ ๘๑ ปี :





หน้าหลัก พระประวัติ พระปรีชาสามารถและพระอัจริยภาพ พิพิธภัณฑ์วังวรดิศ คติธรรม หอสมุดดำรงราชานุภาพ gallery English โคลงและฉันท์ บทความทางวิชาการ ประวัติประธานพิพิธภัณฑ์ เครื่องหอมไทย พระบิดามัคคุเทศก์ไทย